เก็บตะวัน ณ อินเล (Inle) พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตลูกทะเลชาวอินทา (Intha)

กว่า 1,000 กิโลเมตรโดยประมาณหากปักหมุดจากกรุงเทพมหานคร มุ่งสู่สถานที่แห่งหนึ่งอันแสนสงบ เดินทางหลีกหนีความวุ่นวายของเมืองหลวงผ่านนกเหล็กจากประเทศไทยสู่เมืองอันสวยงามในประเทศเมียนมาร์ โดยจุดหมายปลายในครั้งนี้คือ ผืนน้ำที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขาสูงชันตระหง่าน ซับซ้อนและสวยงามในรัฐฉาน และสัมผัสกับความงามของสายน้ำกว้างใหญ่ สุดลูกหูลูกตา ที่มีชื่อว่า ทะเลสาบอินเล

เก็บตะวัน ณ อินเล

สายน้ำกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ยิ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์กำลังตกดินด้วยแล้ว ยิ่งเป็นช่วงที่เพิ่มความสวยให้กับทะเลสาบแห่งนี้ขึ้นมาอย่างมาก สีส้มคละสีทองสว่างของดวงอาทิตย์ที่ตัดกับสีครามของท้องฟ้ายามเย็น ที่ค่อย ๆ เคลื่อนจมลงสู่สีฟ้าครามของทะเลสาบ แถมยังรายล้อมด้วยยอดภูเขาสูงลิ่วที่ปกคลุมด้วยหมู่ต้นไม้สีเขียวขจี ภาพตรงหน้าที่งดงามขนาดนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมากมาย ต่างหลงใหลและอยากจะมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะกับการเดินทางมาชมความงามของทะเลสาบอินเลแห่งนี้ คือ ช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่หากใครสะดวกมาฤดูอื่น ๆ ก็มาได้เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถมาชมได้ตลอดทั้งปี โดยผู้ที่จะพาเยี่ยมชมไม่ใช่ใครที่ไหน แต่จะเป็นเจ้าบ้านผู้อาศัย ณ ผืนน้ำแห่งนี้มายาวนานกว่าร้อยปี ผู้ที่เรียกตัวเองว่าชาวอินทาที่มีความหมายว่า ลูกทะเล

สัมผัสวิถีชีวิตลูกทะเลชาวอินทา

กว่าร้อยปีที่ชาวอินทา อาศัยอยู่และพึ่งพาสายน้ำอินเลแห่งนี้ จนอาจเรียกได้ว่าทั้งพวกเขาและสายน้ำต่างหายใจไปพร้อม ๆ กัน นักท่องเที่ยวหลายคนมาที่นี่เพื่อชมความงามของทะเลสาบอินเล แต่ก็มีไม่น้อยที่มาเนื่องจากอยากสัมผัสวิถีชีวิตลูกทะเลที่ชื่ออินทา เนื่องจากการใช้ชีวิตเคียงคู่ไปกับสายน้ำที่ไม่มีคำว่าธรรมดาของชาวอินทาโด่งดังไปทั่วโลก เช่น ระหว่างที่เหมาเรือของชาวอินทา เพื่อชมความงามของทะเลสาบแห่งนี้ ชาวอินทาไม่ใช้ไม้พายในการพายเรือแต่พายโดยใช้ขาและเท้าของตัวเอง นอกจากขาและเท้าจะพายเรือได้แล้วยังใช้ในการบังคับทิศทางเรือได้ด้วย สร้างความประหลาดใจไม่น้อย หากมความงามของทะเลสาบจนอิ่มแล้ว เราสามารถบอกคนเรือเพื่อไปยังหมู่บ้านที่เปิดให้ชมการเรียนรู้วิธีการถักผ้า ทอผ้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของผู้คนที่นี่ และบ้านที่เราสามารถแวะเข้าไปชมได้นั้นก็เป็นบ้านจริง ๆ ของชาวบ้านใจดีที่ตั้งใจเปิดต้อนรับทุกคน

อีก 1 ภูมิปัญญาของชาวอินทาที่น่าทึ่งคือ การทำการเกษตรบนผืนน้ำ หรือลักษณะคือแปลงเกษตรที่ลอยอยู่บนน้ำ ภาพที่เห็นจะเป็นแปลงผักที่ลอยอยู่บนน้ำจริง ๆ โดยชาวบ้านจะใช้ไม้ไผ่ยึดไม่ให้ลอยไปไหนไกล พวกเขาเล่าว่าจะนำวัชพืชมาทำเป็นแพก่อน แล้วค่อยปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ และก็นำมาทำเป็นอาหารรวมถึงอาหารที่ทำให้เราทานด้วย ถือเป็นภูมิปัญญาที่เก่าแก่และสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงทุกวันนี้

ความเรียบง่ายของชาวอินคาและการปลอบโยนเราด้วยความเงียบสงบของสายน้ำ ถือเป็นการชาร์จพลังให้กับชีวิตไม่น้อย ทำให้ความเหนื่อยล้าจากการทำงานในเมืองใหญ่ที่มากไปด้วยผู้คน ถูกขจัดโดยสิ้น การเอาเท้าจุ่มน้ำเย็น ๆ นั่งมองผู้คนยืนพายเรือเพื่อสอดส่องแปลงผักลอยน้ำของตนน่าจะให้ให้ใครหลาย ๆ คนแอบมีรอยยิ้มและพลังในการกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้งอย่างแน่นอน